วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

My Cup of Tea

โดย   Karnjariya Sukrung


ชาไม่เคยเป็นเครื่องดื่มถ้วยโปรดของเรา แต่เมื่อลองเปิดใจลิ้มลองรสชา ก็ให้ทึ่งว่า วิถีแห่งชาเป็นศาสตร์ เป็นศิลป์ และสะท้อนปรัชญาเซ็นและเต๋าที่สามารถนำมาเทียบใช้กับทุกเรื่องในชีวิต

ประสบการณ์นี้ทำให้เรานึกต่อไปด้วยว่า ทุกวิถีหากผู้ฝึกตนค้นเคี่ยวจนกระทั่งเข้าถึงแก่นแล้ว เราจะพบกัน ไม่ว่านักดาบ นักจัดดอกไม้ ชาวนา นักบวช และนักชงชาดื่มชา — หลากวิถีสู่แก่นแท้เดียว”
……………………..

เคยได้ยินสำนวนภาษาฝรั่งที่ว่า my cup of tea ที่ใช้เพื่อบอกว่า คน ๆ นั้น สิ่ง ๆ นั้นเป็นของที่ใช่ เหมาะเจาะกับรสนิยมและความเป็นเราเสียเหลือเกิน แต่สำหรับคอกาแฟอย่างเรา การใช้สำนวนนี้ทำให้รู้สึกแปลก ๆ ชอบกล เพราะชาไม่ใช่เครื่องดื่มถ้วยโปรดของเรา เวลาที่บอกว่าใครเป็นชาถ้วยโปรดของเรา จึงรู้สึกเหมือนว่า เขาเป็นคนที่เราไม่ค่อยแตะหรือชอบเท่าไรนัก หลายครั้งอยากจะเปลี่ยนไปใช้ my mug of coffee เสียมากกว่า อย่างนี้ถึงจะได้ใจว่า ใช่จริง ๆ

ทว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา หรือ tea master จึงได้รู้ว่า my cup of tea นั้นเป็นอย่างไร และต่อไปนี้คงใช้สำนวนนี้ได้อย่างคล่องใจมากขึ้น

“ชาเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัว ไม่มีใครตัดสินและบอกแทนเราได้ว่า ชานี้ดี ชานั่นไม่ดี ชาแบบนี้ใช่ แบบนั้นไม่ใช่” จงรักษ์ กิตติวรการ เจ้าของร้านชาที่ตั้งภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์บางกอก เจริญกรุง ๔๓ “เราต้องเชื่อความรู้สึกของตัวเองและสัมผัสชาด้วยตัวเอง”

อึม … มันช่างโพสต์โมเดิร์นเสียนี่กระไร “คนแต่ละคนมีธาตุและธรรมชาติภายในต่างกัน ดังนั้นรสในการชิมรส และประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้สึกและรักชาในลักษณะที่ต่างกัน คนบางคนดื่มชาชนิดนี้ แล้วรู้สึกดี ในขณะที่อีกคนดื่มแล้วรู้สึกแย่”

อะไรก็ตามที่ลวกและสะกัดด้วยน้ำก็เรียกเป็นชา เช่นถ้าใช้ดอกไม้ ดอกกุหลาบ เป็นชากุหลาบ ชาดอกไม้ หรือ ชาสมุนไพร แต่ที่ผ่านมาคุณชายตี่แนะนำให้ เรารู้จัก ต้นตำรับอารยธรรมชา คือ ชาจีน ซึ่งแบ่งเป็น ๕ ชนิด ได้แก่ ชาเขียว คือ ใบชาที่ไม่ได้มีการหมักใดๆ เลย ส่วนใบชาอีก ๔ ประเภทที่เหลือผ่านการหมัก ซึ่งเรียงลำดับจากการหมักในเวลาน้อยไปจนถึงมีระยะเวลาการหมักที่นานมากขึ้นตามลำดับ คือ ชาขาว ชาฟ้า ชาแดง และชาดำ เช่น ชาอู่หลง จัดเป็นชาประเภท ชาฟ้า

ถามว่าชาใดดีที่สุด คำตอบคือ สุดยอดชาในปฐพีนั้นหามีไม่ นอกจากจะเป็นเพราะว่า ชาเป็นรสนิยมของปัจเจกแล้ว รสชาติของชาที่เลิศยังขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัยในห้วงขณะเวลาที่ดื่มอีกด้วย นั่นหมายความว่า ในเวลาหนึ่ง ชาจอกที่ดื่มอาจเป็นเลิศในโลก แต่ในอีกวันถัดไป หากเหตุปัจจัยเปลี่ยน ชาถ้วยนั้นอาจเป็นชายอดแย่ก็เป็นได้

ชาดี-ชาเลวจึงเป็นเรื่องสมมติ จะมีก็แต่ชาที่เหมาะกับเรา และชาที่ดีตามเหตุปละปัจจัยในแต่ละขณะ — เห็นไหมว่าวิถีแห่งชานั้นมีความเป็นเซ็นอย่างไร
เรื่องของชา — ถ้วยใครถ้วยมัน

ชาเขียวเป็นชายอดฮิตในปัจจุบัน มีหลากงานวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณครอบจักรวาลของชาเขียว จนขนาดคราวหนึ่ง พ่อค้าหัวตื้อนำไปเป็นส่วนผสมในผ้าอนามัย แต่กระนั้น ชาเขียวก็ใช่ว่าจะดีและเหมาะสำหรับทุกคน เราเป็นคนหนึ่งละที่ ดื่มชาเขียวไม่ได้ ดื่มทีไร หัวใจเหมือนจะออกมาเต้นรัวนอกกาย นอนไม่หลับ ในขณะที่ดื่มกาแฟลาเต้แล้วไม่เป็นไร และนอนได้นอนดี
เรื่องนี้คุณชายตี่ อดีตอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์อธิบายว่า คาเฟอินในชามีมากกว่ากาแฟ แต่รูปแบบคาเฟอินในชาไม่ใช่รูปแบบที่ร่างกายดูดซึมได้ดีนัก แต่ชาเขียวเป็นชาที่ไม่ได้ผ่านการหมัก จึงมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าชาหมักอื่น ๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า บางคนดื่มชาเขียวจะได้รับคาเฟอีนและมีผลต่อร่างกายมาก
ส่วนการที่เราดื่มกาแฟแล้วไม่มีผลอย่างชาเชียว อาจเป็นเพราะเราดื่มกาแฟใส่นม คุณชายตี่บอกว่า นมช่วยสะกัดและลดการดูดซึมคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย 

แม้ชาเขียวจะทำให้ใจเราเต้นแรง แต่ชาประเภทอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลเช่นนั้นก็ได้ คุณชายตี่ให้เราเปิดใจอย่าเหมาโหลรวมความว่า ชาอื่น ๆ ก็คงเป็นอย่างชาเขียว แล้วพาลไม่ดื่มชาไปทั้งหมด เปิดโอกาสตัวเองให้รู้จักชาอื่น ๆ ที่อาจดีกับเรา และเป็น “ชาที่ใช่” ก็ได้”
 
คุณชายตี่พูดต่อว่า เราสังเกตุตัวเองเวลาดื่มชา เพื่อได้รู้จักว่าร่างกายของเราเหมาะและดีกับชาแบบไหน ซึ่งอาจไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ หรือคนจำนวนมาก เรื่องของชา — จอกใครจอกมัน เลียนแบบ ดื่มตามกันมิได้ 

คงเหมือนกับหลายเรื่องในชีวิต อาหาร การหาหมอและการรักษาโรค ความรัก การงาน ฯลฯ ไม่มีสูตรสำเร็จว่า ใครหาหมอคนนี้ รักษาอย่างนั้นแล้วได้ผล เราต้องได้ผลด้วย หรืออาหาร บางคนกินเนื้อสัตว์ได้มากแล้วไม่เป็นไร แต่อีกคนกินนิดเดียวก็เกิดปัญหาการขับถ่าย

และถ้าหากคนเราเจอประสบการณ์เลวร้ายอะไรในชีวิตก็อย่าเพิ่งเหมารวมว่า สิ่งนั้นไม่ดี เปิดใจลองความหลากหลายในสิ่งนั้น ๆ ดู เผื่อว่าจะเจอสิ่งที่เหมาะและดีกับเราสักวันก็ได้ อยากเจอของดี อย่าเพิ่งเข็ดกับประสบการณ์ มองประสบการณ์ต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้

ชาสอนให้เราไม่ด่วนตัดสินอะไรเร็วเกินไป หรือตัดสินเวลาที่มองแค่รูปลักษณ์ หากในเวลานี้เราไม่เหมาะกับชานี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ชาไม่ดี เราอาจจะยังไม่เจอชาที่เหมาะและใช่กับเราก็เท่านั้น”
 
วิถีแห่งชา คือ ประสบการณ์ตรง
แม้จะอ่านตำราเกี่ยวกับชาสักร้อยเล่ม ปลูกชาและขายใบชามากมายสักเท่าไร หากไม่เคยลิ้มรสชา ก็ไม่มีวันรู้จักชา … และถ้าจะให้ดี รู้จักชาให้รอบมากขึ้น ก็น่าจะได้ผ่านการภาวะเมาชากันบ้าง 

ผู้ที่สนใจดื่มชาหรือรู้จักชาไม่มีหนทางอื่นที่จะรู้จักชา นอกจากใช้ร่างกายเรียนรู้และเข้า ใจชา ใช้ตาในการดูสี จมูกดมกลิ่น มือสัมผัสใบชา ลิ้นรับรสน้ำชา จากนั้นจึงจะรู้ได้ว่า อะไรคือชาที่ใช่สำหรับตน เหมือนวิถีพุทธที่เน้นให้คนปฏิบัติจนเห็นและรู้ได้ด้วยตัวเอง อย่างนั้นเลย

“การดื่มชาเป็นประสบการณ์ภายใน เราต้องหาและค้นพบด้วยตัวเอง ว่าชาแบบใดที่เหมาะและดีกับเรา”
เราไม่อาจตัดสินชาได้จากรูปลักษณ์ภายนอก ชาบางชนิด สีสวย กลิ่นดี แต่เมื่อชิมแล้วต้องรีบกลืน หรือวาง เพราะขม เฝื่อนเหลือเกิน แต่ชาบางชนิด สีตุ่น ๆ ข้น ๆ กลิ่นพอใช้ แต่ชิมแล้ว …ใช่เลย…

คุณ ชายตี่บอกว่า วิธีเดียวที่จะรู้ชาที่ใช่ คือ ลอง และลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอ ชาที่ “ปิ้ง” แบบซาโตริ ดื่มแล้วอุทานออกมาได้ว่า “นี่แหละ ชาที่ใช่”

ชาที่ใช่ สัมผัสด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยลิ้น ดังนั้นเราจึงต้องดื่มชาด้วยหัวใจของเรา เหมือนกับที่การทำงาน ดำเนินชีวิต และเรื่องอื่น ๆ เราก็ต้องให้ใจเป็นเข็มทิศนำทาง 

ลิ้นอาจเป็นเครื่องมือรับรส แต่แท้จริง ใจนั่นเองที่จะบอกได้ว่า ชานั่นใช่หรือไม่
ชาที่ใช่ ไม่ได้อยู่ที่ชนิดของชาเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะปัจจัยต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นในช่วงเวลาดื่มชาด้วย

คุณลักษณะของชา ไม่ว่าจะสี กลิ่น รส ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่ดินที่ปลูกต้นชา สายพันธุ์ คนเด็ดใบชา ผู้ผลิต การหมักชา คนชงชา กระบวนการชงชา น้ำที่ใช้ชงชา ภาชนะในการชงชา และ คนดื่ม ฯลฯ ชาอย่างเดียวกันอาจมีบุคลิกที่หลากหลายได้ ตามแต่คนชง สภาวะและปัจจัยในการชงชาในช่วงเวลานั้น ๆ

ชาที่ใช่” จึงหมายถึงความลงตัวของทุกปัจจัย ในปัจจุบันขณะ ตั้งแต่ใบชา น้ำ อุณหภูมิ ฯลฯ
ใบชาแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ชาเขียวและชาขาว มีสีและรสชาติที่อ่อน การชงชาเขียวหรือชาขาวจึงใช้น้ำที่ไม่ร้อนจัดจนเกินไปและต้องแช่ใบชานานกว่าชาประเภทอื่นๆ เพื่อที่สามารถดึงกลิ่นและรสชาติของใบชาออกมาได้

อย่างน้ำที่จะใช้ชงใบชา น้ำส่งผลอย่างยิ่งต่อรสชาติของชา คุณชายตี่ให้เราลองชิมน้ำรูปแบบต่าง ๆ เราจะได้รู้ว่า แม้แต่น้ำยังมีคุณภาพ คุณลักษณะต่างกัน
น้ำก๊อกที่ไม่ได้กรอง อาจมีกลิ่นตุ ๆ และคลอรีน และน้ำมีน้ำหนักตามอินทรีย์ธาตุที่อยู่ในน้ำ
น้ำก๊อกที่กรองแล้ว มีน้ำหนักเบา และรสชาตินุ่มลิ้นขึ้นมาอีกนิด
น้ำกลั่น เมื่อลิ้นสัมผัสรู้สึกมีรสแบน ๆ แหลม ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ

ในตอนที่เราปลีกวิเวกในป่า อยู่บริวเต้นน้ำ เราเคยดื่มน้ำจากลำธาร อร่อยสุด ๆ น้ำอีกอย่างที่อร่อยคือ น้ำฝนในบ้านชนบท

เพียงแค่น้ำก็อาจทำให้น้ำชามีรสชาติ น้ำหนักต่างกันไป ซึ่งแน่นอนว่ามีผลอย่างยิ่งต่อการรับรสสัมผัสของเราแต่ละคน

ยิ่งไปกว่านั้น ชาจะเป็นชา “ที่ใช่” เราต้องดื่มมันในจังหวะที่ใช่ด้วย (ทุกอย่างมีจังหวะของมัน ถ้าทำอะไรผิดจังหวะก็คงไม่ดี) การดื่มชามีจังหวะที่อร่อย ซึ่งถ้าเราปล่อยให้ผ่านเลยไป สีและรสของชานั้นก็จะเปลี่ยน เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า ชาชนิดนี้เราควรดื่มจังหวะไหน — คำตอบของคุณชายตี่ คือ ทดลองไปเรื่อย ๆ แล้วจะรู้เอง

นี่เป็นเพียงรายละเอียดเพียงส่วนเสี้ยวของเหตุและปัจจัยที่ทำให้ชาเป็นอย่างที่เป็
นั่นหมายความว่า “ชาที่ใช่” อาจ “ไม่ใช่” ในจอกต่อไปก็ได้ หากเหตุปละปัจจัยเปลี่ยนไป และเราควบคุมเหตุปัจจัยให้คงที่ตลอดเวลาและตลอดไปไม่ได

ความใช่ก็ไม่แน่” แปรเปลี่ยนตามเหตุและปัจจัย
ผู้ชงชาต้องเข้าใจธรรมชาติของชาในแง่นี้ และต้องฝึกฝนฝีมือตัวเองที่จะชงให้นิ่ง หรือละเอียดกับปัจจัย ตัวแปรต่าง ๆ ในการชงชาเพื่อจะให้เป็นชาที่ใช่ หรือไม่งั้นก็พอกินได้ — ก็ยังดี

สำหรับผู้ที่อยากเป็นนักดื่มชา tea connoisseur การเจอชาที่ “ใช่” เป็นบันไดขั้นแรกที่จะพาเราเดินหน้าต่อไปเพื่อรู้จักชาที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จนเหมือนจะพาเราไปพบ สุดยอดชาในพื้นพิภพ

เมื่อประสบการณ์อันช่ำชองพาเรา ไปลิ้มรสชาหลากหลายแล้ว ท้ายที่สุดเราจะพบว่า ชาที่ดีที่สุดนั้นไม่มี “ชาชนิดเดียวกัน หากคนชงเป็นคนละคน วิธีชงต่างกัน ก็ทำให้รสชาติต่างกัน”

ชาก็คือชา คนชงชาและคนดื่มชานั้นแหละที่ทำให้ ชาเป็นชาที่ดี หรือชาที่ไม่ได้เรื่อง … (รัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ แต่คนร่างและคนใช้รัฐธรรมนูญนั่นแหละที่ทำให้…. เกี่ยวกันไหมนะ)

ทางสายกลาง
โลกมีทั้งด้านมืดและสว่าง ทุกอย่างในโลกมีทั้งประโยชน์และโทษ ข้อดีและข้อด้อย — ชาก็เช่นกัน
ในยุคที่งานวิจัยทะลักห้องแลบ เราจะได้ยินว่า ชามีประโยชน์มากมาย และการวิจัยบางแห่งบอกว่ามีโทษ ทำให้หลายคนเกิดสับสนว่า เราจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี จะกินหรือไม่กินดี

คุณชายตี่กล่าวว่า “อาหารทุกอย่างเป็นพิษและเป็นคุณ” อย่างโสม กินแรก ๆ จะเกิดฤทธ์กระตุ้นร่างกาย แต่ถ้ากินมาก ๆ เข้าก็จะส่งผลกดประสาท หรือแม้แต่ชาเอง ชาช่วยเรียน้ำย่อยและช่วยย่อยอาหาร หากแต่กินมาก ๆ เข้าอาจเกิดภาวะ “เมาชา” ได้

อาการ เมาชานี้ (สำหรับเรา) มีอาการคล้ายเมากัญชา คือ ร่าเริงโดยไม่มีเหตุผล หัวเราะได้ง่าย ๆ ยิ้ม เคลิ้ม ๆ แต่บางคนเวลาเกิดอาหารเมาชา อาจจะอาเจียน มึนศีรษะ ฯลฯ

ความเป็นพิษและเป็นคุณของอาหารขึ้นกับธรรมชาติร่างกายของคนแต่ละคน และปริมาณการบริโภคด้วย ซึ่งความพอดีของคนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

ดังนั้น การจะกินอะไรให้เกิดประโยชน์กับร่างกาย สูตรสำเร็จอย่างเดียว คือ ฟังเสียงของร่างกายตัวคุณเอง อย่างเรื่องชา เราต้องรู้ด้วยตัวเอง ว่าร่างกายของเราตอบสนองต่อชาแต่ละชนิดอย่างไร

นอกจากรู้จักร่างกายของเราเอง และการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อชาแต่ละชนิดแล้ว เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับชาด้วย เช่นว่า ชามีฤทธิ์ทางเคมีอย่างไร และชาชนิดใดควรดื่มช่วงไหน อย่างไร โดยมากชามีฤทธิ์ทำให้เราตื่นตัว และช่วยย่อยอาหาร ดังนั้นถ้าเราดื่มชาตอนท้องว่าง ก็จะเสาะท้อง เวลาดื่มชาจึงต้องมีของทานเล่นเคียงด้วย อย่างชาวญี่ปุ่นกินชาเรียกน้ำย่อย จึงต้องมีอาหารเบา ๆ เคียงด้วย

ภาวนาผ่านวิถีชา
ใครเคยดูพิธีชงชาของญี่ปุ่นคงไม่ปฏิเสธว่า เป็นพิธีกรรมที่ขลังมาก ละเอียดพิถีพิถัน นิ่ง สงบ งดงาม เราไม่ต้องชงชาแบบนั้นก็ได้ เพียงแต่การชงชาในชีวิตประจำวัน เราก็ใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการฝึกสติและสมาธิได้เหมือนกัน

รับรู้สัมผัสรสของน้ำ และของรูปสี กลิ่น รสของใบชาก่อนชงกับน้ำร้อน เมื่อใบชาอยู่ในน้ำร้อน ให้สี ให้กลิ่นและรสอย่างไร ก็รับรู้

คุณชายตี่บอกว่า ยามเช้าที่ตื่นมาชงชาเป็นเวลาส่วนตัวที่เงียบสงบ และเป็นความสุขอย่างยิ่ง อยู่กับชา อยู่กับตัว และอร่อยด้วย

เวลาที่เรากิน ดื่ม ด้วยสติและสมาธิ เราจะได้รับรู้ความมหัศจรรย์ของประสาทสัมผัสของร่างกาย วิเศษจริง ๆ

เรามีร่างกายเป็นเครื่องมือ และมีใจรับรู้ — ความงาม ความมหัศจรรย์ของชีวิตอยู่ที่นี่ ตรงนี้





----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณ อุ๊  ที่เอื้อเฟื้อบทความให้คัดลอกมาลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น