วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชากาบาลอง (gabalong) : ชาจากกากชา


ผมเพิ่งได้ชากาบาลองเป็นของฝาก มาจากทีมาสเตอร์ชาวไต้หวัน (ยังหาคำไทยที่เหมาะกับ tea master ไม่ได้  เดิมเคยอยากจะใช้ อาจารย์ชา แต่เกรงว่าจะทำให้เข้าใจไขว้เขว่กับ อาจารย์ท่านที่เป็นภิกษุในพุทธศาสนา)  ซึ่งท่านก็ได้สาธยายเรื่องชากาบาลองให้ฟัง จึงถือโอกาสเก็บความมาเล่าต่อ
ใบชาเมื่อสกัดด้วยน้ำร้อนจนหมดกลิ่นรสแล้ว ก็เหลือเป็นกากชา  กากชาที่ว่านี้เซลล์ในใบชายังอยู่ดีไม่แตกสลาย  กากชาจึงยังมีสารต่างๆที่ถูกกักอยู่ภายในเซลล์อยู่อีก  กระบวนการกาบาลอง จึงเป็นการน้ำกากชา (ชนิดใดก็ได้) มาบ่มในภาวะสุญญากาศ และทำให้เซลใบชาแตก  ทำให้กากชากลับมามีกลิ่นอีกครั้ง และปลดปล่อยสารต่างๆที่มีอยู่ในเซลล์ใบชาอ้างกันว่าน้ำชากาบาลองไม่มีฤทธิ์ทำให้ตื่นตัวตาค้าง และยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย   กระบวนการนี้แม้ญี่ปุ่นจะเป้นต้นคิด แต่ชาวไต้หวันก็คุยนักหนาว่าทำได้ดีกว่า
ภาพที่เห็นข้างล่างนี้  คือ ภาพของใบชากาบาลองที่ทำจากกากชาสองชนิด คือ ชาอูหลงไต้หวันชนิดที่ชื่อ ตงฟางเม่ยเหยิน(東方美人)และชาเขียวของไต้หวันชื่อ เปาจ้ง (包種)ภาพมีสามส่วนที่เรียงลำดับจากซ้ายสุดเป็นใบชาก่อนทำเป็นกาบาลอง กลางเป็นภาพชากาบาลองก่อนชง และขวาเป็นกาบาลองที่ชงน้ำแล้ว 
ชากาบาลองมีกลิ่นเฉพาะเป็นกลิ่นเหม็นเขียวเหมือนสมุนไพร่พืชสด  ซึ่งไม่น่าอภิรมย์นัก ครั้งแรกที่ลองชงดู ดื่มแล้วออกจะผะอืดผะอมอยู่   คงจะเป็นด้วยใส่ใบชามากเกิน  พอลองชงโดยใช้ใบชาน้อยๆ  คะเนว่าใบชา ๑ ส่วน กับน้ำร้อนสัก ๗-๘ ส่วน  แช่ทิ้งได้สัก ๕ นาทีขึ้นไป  จะได้น้ำชาสีน้ำตาลเข้ม  รสออกข้ม แต่ไร้ความฝาด รสขมให้ความชุ่มคอ ติดลิ้น ให้ความหวานตามมา     ชานี้ถ้าใช้เวลาแช่นานขึ้นจะได้รสของชาเดิมที่นำมาทำเป็นกาบาลองได้ชัดกว่า การชงผ่านน้ำร้อนเร็วๆใช้เวลาน้อยๆ
กาบาลอง คงไม่ใช่ชาที่อาจจะแสวงหากลิ่น และรสที่สดใส ได้อย่างน่าอภิรมย์ แต่ออกจะเป็นชาที่ดูเรียบง่าย  ดื่มได้แม้ยามค่ำๆก่อนนอน เพราะมีฤทธิ์ทำให้ตาสว่าง ตาค้างน้อย  ดูออกจะเป็นมิตรกับผู้สูงอายุที่หลับยากยิ่งกว่าชากลุ่มชาเขียว
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น